วิลล่า มูเซ่

เรือนประเสนชิต


เรือนไม้สักทองทรงปั้นหยาสีเขียวไข่กาที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางหมู่มวลเรือนไทยของ วิลล่า มูเซ่ เป็นหนึ่งในอาคารหลักของสถานที่แห่งนี้ ด้วยรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม การตกแต่งและออกแบบเรือนอย่างงดงามลงตัว ทั้งลวดลายไม้ฉลุรอบตัวอาคารจากพื้นจรดเพดาน สะท้อนถึงเรือนไม้ที่มีพัฒนาการสุงสุดของยุคปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงต้นรัชกาลที่ ๖ สมศักดิ์ศรีรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เรือนปั้นหยาหลังงามหลังนี้ได้รับการชะลอจากย่านสี่พระยา กรุงเทพมหานคร มาตั้งตระหง่านท่ามกลางความงามของพรรณพฤกษานานาชนิดของเขาใหญ่ นอกจากความงามภายนอกที่โดดเด่นแล้ว ภายในยังใช้เป็นสถานที่เก็บรักษามรดกล้ำค่าที่ผ่านกาลเวลาจนประเมินค่ามิได้ จนทำให้เป็นที่มาของชื่อ “วิลล่า มูเซ่” เพราะอาคารหลังนี้คือส่วนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เจ้าของสถานที่ตั้งใจให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตเรือนที่อยู่อาศัยของขุนนางไทยในอดีต ยุคที่ชาวสยามกลุ่มแรก ๆ สำเร็จการศึกษาจากยุโรปพร้อมนำวิทยาการความรู้จากต่างแดนมาเข้ารับราชการ จนพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์สยามประเทศและมีส่วนร่วมในการ “ปฏิรูปสยาม” ครั้งใหญ่ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา

เครื่องเล่นแผ่นเสียงสมัยโบราณที่บรรเลงเพลงคลาสสิกร่วมสมัย คลอไปทุกย่างก้าวในตัวเรือนประเสนชิต เครื่องเรือน ภาพถ่ายเก่า และข้าวของทรงคุณค่าที่จัดแสดง ในบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของเครื่องหอมไทย เจือด้วยกลิ่นหอมเย็นของดอกปีป ลีลาวดี ดุจจะเชื้อเชิญต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะแขกพิเศษของเจ้าของบ้าน ผู้เข้าชมเรือนประเสนชิตทุกท่านจะผ่านเข้าสู่โถงห้องรับแขก ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงส่วนแรก ภายในโถงประดับด้วย ภาพพิมพ์หิน ภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ จัดแสดงอยู่รายล้อมโถง แสงไฟสลัวสะท้อนรับกับโต๊ะประดับมุกอย่างจีน ชุดรับแขกปุ่มมะค่าชุดใหญ่จากเวียดนามที่แสดงถึงอิทธิพลฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคมจัดวางบนพรมทอมือจากเปอร์เซีย โคมไฟโบราณและชุดน้ำชา Porcelain อย่างฝรั่งลวดลายงดงามกลางห้องรับแขกใหญ่ เคียงข้างห้องนั่งเล่นที่ตั้งเปียโนร่วมสมัยหลังงาม พร้อมภาพวาดสีน้ำมัน ในส่วนนี้ยังจัดแสดงภาพข่าวของเจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสื่อฝรั่งเศส ภาพถ่ายในกรอบตั้งโต๊ะและแขวนผนังล้วนเป็นภาพเก่าดั้งเดิมทั้งสิ้น ซึ่งชุดเครื่องเรือนและเอกสารสิ่งพิมพ์โบราณเหล่านี้นับว่าเป็นชิ้นงานศิลปะที่ปรากฏอยู่เพียงไม่กี่ชิ้นในเมืองไทย

เมื่อผ่านจากโถงรับแขกก็จะเข้าสู่ห้องทำงาน ที่จัดแสดงอย่างประณีตจนเหมือนดั่งขุนนางผู้ครองเรือนแห่งนี้ยังคงใช้ทำงานอยู่เมื่อครู่ หนังสือเก่าภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และละตินที่เรียงพิมพ์เป็นตำราฝรั่ง สำหรับขุนนางผู้นี้ใช้ในการศึกษาค้นคว้า เรียงใส่ตู้ไม้ฉลุลายงดงามอย่างเป็นระเบียบอยู่เคียงข้างพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ประดิษฐานอยู่เบื้องขวาของโต๊ะทำงาน บ่งบอกการสอดประสานรับวัฒนธรรมทั้งไทยและเทศมาวิวัฒน์ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะยุคสมัย ที่ยังส่งผลมาจนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวไทยในปัจจุบัน โคมไฟ ขวดหมึก ปากกาขนนก ที่ทับประดาษ และเอกสารร่วมสมัย จัดวางอยู่เป็นระเบียบ เบื้องหน้าบนฝาผนังคือภาพเหตุการณ์สำคัญจากหนังสือพิมพ์หัวฝรั่งเศส “Le Petit Journal” ต้นฉบับจริง ที่มีการประโคมข่าวกรณีพิพาท สยาม-ฝรั่งเศส จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งนับเป็นการเสียดินแดนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของสยามประเทศ และข่าวสารเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ซึ่งขุนนางผู้นี้คงจะใช้เป็นเครื่องเตือนใจในการปฏิบัติราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อไม่ให้สยามต้องเผชิญเหตุการณ์ดังเช่นครั้งนั้นอีก

อีกฝากฝั่งของอาคารจะพบโถงเล็ก ๆ ที่เก็บเรื่องราวของกรุงเก่า สะท้อนผ่านภาพพิมพ์ทองแดงยุคปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงแผนที่สำรวจกรุงเก่าฉบับแรกของยุครัตนโกสินทร์ที่จัดทำโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ ก่อนจะเข้าสู่โถงบันไดชั้นล่างที่ประดับด้วยภาพแขวนขนาดเขื่องบอกเล่าถึงงานเลี้ยงสหชาติ พุทธศักราช ๒๔๕๙ ซึ่งเป็นงานเลี้ยงพระราชทานครั้งสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เอกสารโบราณจัดประดับตกแต่งอยู่ ณ โถงทั้งสองนี้ นับได้ว่าเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางราชการที่สำคัญของขุนนางผู้ครองเรือนในอดีต เอกสารโบราณเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นเอกสารต้นฉบับอันทรงคุณค่า ซึ่งอาจเหลือเพียงชิ้นเดียวในปัจจุบัน นับเป็นมรดกที่สะท้อนรูปแบบแนวคิด วิถีชีวิตอันละเมียดละไมของคนยุคก่อนได้เป็นอย่างดี ส่วนโถงบันไดทางขึ้นชั้นสองนั้น ประดับภาพพิมพ์หินขนาดใหญ่ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ฝาทั้งสองด้านประดับด้วยเครื่องศาสตราวุธโบราณแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่จัดแสดงตามแบบอย่างยุโรป บ่งบอกการรับราชการมาหลายชั่วคนของขุนนางในตระกูลนี้ ก่อนที่จะได้ขึ้นไปชมทิวทัศน์ของแมกไม้อันร่มรื่นของ วิลล่า มูเซ่ อย่างเต็มตาบริเวณระเบียงชั้นสอง ซึ่งผู้เข้าชมจะได้สัมผัสถึงความชาญฉลาดของผู้ออกแบบเรือนไทยในยุคนั้น ที่ประยุกต์แนวคิดสถาปัตยกรรมตะวันตก เข้ากับทิศทางการออกแบบเรือนไทย ให้ได้รับลมอย่างเต็มที่ ทำให้ตัวเรือนประเสนชิตหลังนี้ มีความปลอดโปร่งโล่งสบาย มีสายลมเย็นพัดพากลิ่นหอมของดอกไม้ให้ตัวเรือนร่มเย็นอยู่ตลอดเวลา

เมื่อผ่านทางเดินโถงชั้นสองจะพบห้องพักผ่อนของเจ้าของเรือน ซึ่งบ่งบอกถึงงานอดิเรกและความชอบศึกษาศิลปวิทยาการของประเทศทางตะวันตก กล้องส่องทางไกลยุคโบราณที่ตั้งเด่นเป็นสง่ากลางห้องพร้อมชุดเก้าอี้ไม้สำหรับเอนหลังรับอากาศบริสุทธิ์ขณะอ่านหนังสือจากตู้ไม้ใบใหญ่ ฝาผนังอีกด้านประดับด้วยเขาสัตว์จากต่างประเทศ พร้อมเครื่องหอมอย่างฝรั่งในขวดแก้วโบฮีเมียน และเครื่องกระเบื้องเขียนสีจัดแสดงอย่างงดงามบนชั้นวาง อีกฝากของโถงบันไดคือห้องนอนของเจ้าของเรือน ที่ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนร่วมสมัย ทั้งโต๊ะเครื่องแป้ง ตู้ เตียงไม้สักแบบตะวันตกแต่ทว่าผลิตในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งหาชมได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน เครื่องกระเบื้องขาวจากยุโรปครบชุดบริเวณอ่างล้างหน้าของห้องน้ำชั้นบน บ่งบอกถึงรสนิยมของผู้ครองเรือนได้เป็นอย่างดี รวมถึงฉากบานเฟี้ยมประดับภาพถ่ายบุคคลสำคัญต่าง ๆ ที่มีคุณูปการต่อสยามประเทศ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ตามตำหนักเจ้านาย และเคหสถานของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เมื่อเดินตามแนวระเบียงที่ประดับเรียงรายด้วยโคมไฟจีบ จะพบห้องท้ายสุดริมระเบียงซึ่งเป็นที่ตั้งของหอพระ ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำบ้านเหนือบุษบกไม้หลังงามจากหัวเมืองทางเหนือที่แกะสลักปิดทองประดับกระจกอย่างประณีตงดงาม ประดิษฐานเป็นสิริมงคลอยู่บนส่วนที่สูงสุดของเรือนตามความเชื่อในครั้งอดีต

เรือนประเสนชิตแห่งนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานทรงคุณค่าที่ วิลล่า มูเซ่ ภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ต่อยอดจากชุดของสะสม พัฒนามาสู่พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่มีชีวิต จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจทุกท่าน เรือนประเสนชิตเปิดให้เข้าชมทุกวันศุกร์ – อาทิตย์ ๓ รอบ นำชมเวลา ๑๑.๐๐ / ๑๔.๐๐ และ ๑๖.๐๐ น. รอบละไม่เกิน ๘ ท่าน โดยนัดหมายเข้าชมล่วงหน้า